อันตรายจากด้วงน้ำมัน ด้วงก้นกระดก

แมลงมีพิษในประเทศไทย อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากนำไปบริโภค หรือสัมผัสโดนพิษของแมลง จะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ ได้แก่ ด้วงก้นกระดกและด้วงน้ำมัน แมลงทั้งสองชนิดนี้สามารถปล่อยสารพิษที่เป็นอันตราย โดยทำให้ผิวหนังปวดแสบปวดร้อน และอาจทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะด้วงน้ำมัน ที่มีรายงานผู้เสียชีวิตอยู่เสมอ เพราะประชาชนเข้าใจผิดคิดว่ากินได้ จึงจับมาเผาไฟกิน ทำให้ได้รับสารพิษแคนทาริดิน (Cantharidin) ถึงแม้ด้วงน้ำมันจะถูกเผาไฟแล้วแต่สารพิษแคนทาริดินยังคงอยู่

ด้วงก้นกระดก หรือ แมลงก้นกระดก

เป็นแมลงที่พบมากในฤดูฝน ชอบความชื้น เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก มีความยาวเพียง 4-7 มิลลิเมตร โดยมีลักษณะจำเพาะคือ ปีกคู่แรกแข็งและสั้น สีดำ เป็นมัน ปีกคู่สองมีขนาดใหญ่แต่จะมองไม่เห็นเด่นชัด ลำตัวมีขนาดเล็กเรียว ส่วนท้องยาวโผล่ออกมานอกปีกสังเกตเห็นได้ง่ายโดยจะชอบงอส่วนท้องขึ้นๆ ลงๆ เมื่อเกาะอยู่กับที่ สายพันธุ์ที่พบบ่อยในไทยส่วนท้องจะมีสีส้ม 
สารพิษของแมลงชนิดนี้ คือ สารพีเดอริน (Paederin) เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นคันหรือแผลพุพอง ผิวหนังไหม้แดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ และถ้าถูกพิษบริเวณดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้

ด้วงน้ำมัน


ด้วงน้ำมันเป็นแมลงปีกแข็งจำพวกด้วงชนิดหนึ่งในประเทศไทย พบได้ประมาณ 13 ชนิด โดยทุกชนิดมีพิษแบบเดียวกัน ชนิดที่พบบ่อยและประชาชนเคยเสียชีวิตจากการกินมีอยู่ 3 ชนิด ประกอบด้วย Mylabris phalerata มีลักษณะคือ หัว อก ลำตัว และขาสีดำ มีปีกแข็งและมีลายขวางสีเหลืองส้มสลับดำ โดยจะเป็นสีเหลืองส้ม 3 แถบ ดำ 3 แถบ ลำตัวกว้าง 7-8 มม. ยาว 22-27 มม. ชนิดที่สองคือชนิด Epicauta hirticornis มีลักษณะที่สำคัญคือ หัวสีน้ำตาลแดง อก ลำตัว ขา และปีกสีดำ ไม่มีลายบนปีกแข็ง ขนาดของลำตัวกว้าง 3-5 มม. ยาว 12-21 มม. ชนิดที่สาม คือ Epicauta maliculi มีลักษณะสำคัญที่เห็นได้เด่นชัดคือ ปีกคู่หน้ามีสีเหลืองและปลายปีกสีดำ หัวสีแดง โดยลำตัวมีขนาดกว้าง 5-6 มม. ยาว 20-22 มม. ด้วงน้ำมันพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจะมีชื่อท้องถิ่น เรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภาค เช่น ภาคกลางเรียก ด้วงโสน แมงลายขี้เมา ภาคใต้เรียกว่า ด้วงไฟเดือนห้า ทางภาคเหนือเรียกแมลงฮึ่มไฮ้ โดยด้วงน้ำมันจะพบมากอยู่ตามต้นแค ต้นโสน พืชตระกูลถั่ว มะเขือเทศ และ ปอ โดยจะบินเป็นกลุ่มมากินใบและดอกของพืชเหล่านี้

ด้วงน้ำมัน เป็นแมลงที่มีสารพิษร้ายแรงชนิดแคนทาริดินอยู่ภายในลำตัว อันตรายเกิดจากการที่ประชาชนมีความเข้าใจผิดนำไปเผาไฟรับประทานโดยคิดว่าเป็นอาหาร หรือเป็นยาบำรุงกำลัง แล้วได้รับพิษนั้น โดยพบว่าความร้อนจากการเผาไฟหรือจากการปรุงอาหารจะไม่สามารถทำลายพิษภายในลำตัวของด้วงน้ำมันให้สลายไปได้ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เคยได้รับตัวอย่างด้วงน้ำมันส่งมาตรวจวิเคราะห์หลายครั้งตามลำดับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาที่ประชาชนจากภาคต่างๆ นำไปกินแล้วเกิดพิษ ทำให้เจ็บป่วย หรือบางรายถึงกับเสียชีวิต

อาการ

เมื่อด้วงน้ำมันถูกรบกวนจะขับสารแคนทาริดินออกมาทันที สารนี้เมื่อสัมผัสถูกกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรงและเกิดเป็นผื่นพอง ปวดแสบปวดร้อน ถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ และที่สำคัญคือถ้ากินเข้าไปจะทำให้ถึงตายได้ โดยอาการของผู้ป่วยที่กินสารพิษจากด้วงน้ำมันเข้าไปคือ จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะมีเลือดปน และถ้ารับประทานเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้ถึงตายได้

การป้องกันและรักษา

ห้ามจับแมลงที่มีลักษณะดังกล่าวมารับประทานโดยเด็ดขาด และไม่ไปกระตุ้นหรือสัมผัสกับแมลงเหล่านี้ รวมทั้งห้ามรับประทานแมลงชนิดใดๆ ที่ไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่ไม่เคยมีการนำมารับประทานมาก่อน ถ้าร่างกายถูกพิษของด้วงน้ำมันให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหลังจากนั้นทำความสะอาดแผลด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคในเบื้องต้นถ้ามีอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนให้ทาด้วยยาคาลาไมน์อาจใช้ยาปฏิชีวนะประเภทครีมทาบริเวณที่ถูกพิษกรณีที่ตุ่มแผลแตกให้รับประทานยาปฏิชีวนะและปิดแผลไว้ ถ้าอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ แต่ถ้าได้รับพิษจากการกินด้วงน้ำมัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งนำตัวอย่างแมลงไปด้วย

มวนเพชฌฆาต

เป็นแมลงมวนชนิดหนึ่ง ลำตัวยาวประมาณ 1-3 ซม. มีสีดำ น้ำตาล และจะมีสีอื่นๆ ปนอยู่ด้วย เช่น สีเหลือง แดง หรือส้ม ส่วนหัวเรียวยาว ส่วนที่อยู่หลังตาคอด ลักษณะเป็นคอ ปากเป็นแบบแทงดูด เมื่อไม่ได้ดูดกินเลือดจะโค้งงอพับ เก็บไว้ใต้ส่วนอก

มวนเพชฌฆาต เป็นแมลงที่ดูดกินเลือดคนและสัตว์ใหญ่ต่างๆ เป็นอาหาร น้ำลายของมวนมวนเพชฌฆาตบางชนิด มีสารพิษทำให้เกิดความเจ็บปวด และทำให้เกิดแผล ส่วนในต่างประเทศมีรายงานว่าเป็นพาหะนำโรคบางชนิด